พันธุ์กล้วยไม้ป่าของไทย
สายพันธุ์กล้วยไม้
สายพันธุ์กล้วยไม้ต่างๆ เราได้พยายามรวบรวมรูป ลักษณะสายพันธุ์ วิธีการปลูกเลี้ยง เพื่อให้ทุกท่านได้ใช้เป็นความรู้เพื่อการต่อยอดในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้สวยงาม การผสมพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้น ไม่ว่าท่านจะปลูกเลี้ยงเพื่องานอดิเรกหรือเป็นสวนกล้วยไม้ปลูกเพื่อจำหน่าย
กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีทั้งที่ชอบความชุ่มชื้นและที่ทนแล้ง ให้ดอกที่มีสีสันสวยงามแปลกตา มีขนาด รูปร่างและลักษณะหลากหลายเป็นอันมาก เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการและการปรับตัวอย่างสูงในหลายรูปแบบ เช่น สามารถเก็บน้ำและอาหารไว้ในส่วนต่างๆ ของลำต้นเพื่อใช้ในภาวะวิกฤติ สามารถพัฒนาอวัยวะที่เกี่ยวกับการ ผสมเกสรให้เหมาะสมกับพาหะต่างๆ อีกทั้งยังสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทำให้ สามารถกระจายพันธุ์ได้ในทุกภูมิภาคของโลกดำรงชีวิตอยู่รอดและเจริญเผ่าพันธุ์ได้แม้ในสภาพธรรมชาติ วิกฤติที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพืชชนิดอื่น ลักษณะภายนอกของกล้วยไม้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพียงพอสำหรับการจำแนกกล้วยไม้ออกจากพืชวงศ์อื่น เนื่องจากมีหลายๆ ลักษณะที่โดดเด่นและแตกต่าง จากพืชชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน อาทิ รูปทรงของลำต้น ใบ ดอก ทั้งส่วนประกอบ ขนาด รูปร่าง สี และกลิ่น รูปร่าง ของฝัก เมล็ดที่มีขนาดเล็กเป็นฝุ่น ตลอดจนระบบราก หรือแม้แต่ถิ่นอาศัย ฯลฯ ที่ล้วนแต่แตกต่างกันไปนั้น สามารถใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกกล้วยไม้ ออกจากพืชวงศ์อื่นได้อย่างชัดเจน
การแบ่งกลุ่มกล้วยไม้ตามลักษณะที่ขึ้นอยู่ในสภาพธรรมชาติ
การแบ่งกลุ่มกล้วยไม้ตามลักษณะที่ขึ้นอยู่ในสภาพธรรมชาติ
- กล้วยไม้ไทยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตาม สถานที่ขึ้นอยู่อย่างง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มกล้วยไม้อิงอาศัย (epiphytic orchids) ซึ่งมี จำนวนประมาณ 65% ของกล้วยไม้ทั้งหมด ได้แก่กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium spp.) สกุลหวายแดง (Renanthera spp.) สกุลฟ้ามุ่ย (Vanda spp.) ฯลฯ และกลุ่มกล้วยไม้ดิน (terrestrial orchids) ประมาณ 35% อาทิ สกุลปัดแดง (Habenaria spp.) สกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) สกุลเอื้องดินใบหมาก (Spathoglottis spp.) นอกจากนี้ในกลุ่มของกล้วยไม้ดินยังสามารถจำแนกย่อยเฉพาะออกไปได้อีกเป็น กล้วยไม้กินซาก (saprophytic orchids) เช่น สกุลเถาวัลย์พันดง (Galeola spp.) สกุลกล้วยปลวก (Aphyllorchis spp.) นอกจากนี้และยังพบกล้วยไม้ที่ขึ้น บนหิน (lithophytic orchids) ซึ่งมีทั้งที่เป็นกล้วยไม้ดินและกล้วยไม้อิงอาศัย เช่น สกุลม้าวิ่ง (Doritis spp.) ฯลฯ การที่กล้วยไม้สามารถขึ้นอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ แตกต่างกันนี้ เนื่องจากมีวิวัฒนาการ และการปรับตัว ได้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ มาเป็นเวลานาน จึงมี ระบบราก ลำต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ตลอดจนลักษณะ การเจริญเติบโตฯลฯ ที่ผิดแผกแตกต่าง
- กลุ่มที่มีการเจริญทางยอด (monopodial) ได้แก่ ชนิดที่มีลำต้นชัดเจนแล้วเจริญขยายทางปลายยอดด้านเดียว อาทิ สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.) สกุลกุหลาบ (Aerides spp.) สกุลพญาไร้ใบ (Chiloschista spp.) สกุลตีนเต่า (Gastrochilus spp.) สกุลหวายแดง (Renanthera spp.) สกุลไอยเรศ (Rhynchostylis spp.) สกุลเสือโคร่ง (Staurochilus spp.) และสกุลพลูช้าง (Vanilla spp.) ที่มีลำต้นยืดยาวออกไปได้หลายสิบเมตร ก็เจริญเติบโตด้วยวิธีนี้
- กลุ่มที่มีการเจริญทางข้าง (sympodial) ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่แล้ว ก็สามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อ อาทิ สกุลหางแมงเงา (Appendicula spp.) สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลน้ำต้น (Calanthe spp.) สกุลกะเรกะร่อน (Cymbidium spp.) สกุลหวาย ( Dendrobium spp.) และว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum) ที่มีลำต้นใหญ่คล้ายลำอ้อย ฯลฯ
ราก
เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของกล้วยไม้ที่แตกต่างจากพืชชนิดอื่นชัดเจน โดยรากของกล้วยไม้มีลักษณะอวบน้ำ ส่วนใหญ่ที่เป็นรากอากาศนั้นจะไม่มีรากฝอย แต่มักมีเนื้อเยื่อหุ้มด้านนอกหนาคล้ายเป็นนวม เรียกว่า เวลาเมน (velamen) ซึ่งประกอบด้วยส่วนเนื้อเยื่อของเซลล์ที่ตายแล้ว มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ จึงสามารถดูดซับน้ำและแร่ธาตุ เข้าไปยังภายในเซลล์ของรากกล้วยไม้ได้ สามารถช่วยป้องกันการระเหยของน้ำในรากและการผ่านเข้าออกของ จุลินทรีย์ ซึ่งลักษณะของรากแบบนี้จะพบได้ทั้งในกล้วยไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ดิน นอกจากนี้ รากของกล้วยไม้ยัง
สามารถพัฒนาไปทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การยึดเกาะ การดูดซับน้ำและความชื้นในอากาศ การสะสมอาหาร การสังเคราะห์อาหารด้วยแสง และเปลี่ยนเป็นหัวใต้ดินหรือไหลช่วยในการขยายพันธุ์
กล้วยไม้มีระบบรากคล้ายกับพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป แต่ได้มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต สภาพ แวดล้อม และถิ่นอาศัยที่กล้วยไม้นั้นขึ้นอยู่ อาทิ กล้วยไม้ดินบางชนิดมีรากช่วยสะสมอาหาร เช่น สกุล ว่านแผ่นดินเย็น (Nervilia spp.) สกุลนางอั้ว (Habenaria spp.) และสกุลนางตาย (Peristylus spp.) ฯลฯ หรือที่มีลักษณะเป็นหัวใต้ดิน คล้ายเหง้าหรือไหล ได้แก่ว่านจูงนาง (Geodorum spp.) บางชนิดในสกุลว่านช้างผสมโขลง (Eulophia spp.) และบางชนิดมีรากแตกออกเป็นกระจุกที่โคนลำต้น เช่น สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.) และสกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) ฯลฯ
รากของกล้วยไม้อิงอาศัยเป็นรากอากาศ ไม่มีหน้าที่ในการสะสมอาหาร ทำหน้าที่หลักสำหรับการเกาะยึด แลกเปลี่ยนก๊าซ เพื่อการหายใจและช่วยทำหน้าที่สังเคราะห์อาหารด้วยแสง เช่น สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลเอื้องหมาก (Coelogyne spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) ฯลฯ หลายชนิดมีรากอากาศแข็งแรง แตกออกเดี่ยวๆ ตามข้อใกล้โคนต้น ช่วยหยั่งยึดและพยุงลำต้น เช่น สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.) สกุลไอยเรศ (Rhynchostylis spp.) สกุลเสือโคร่ง (Staurochilus spp.) สกุลฟ้ามุ่ย (Vanda spp.) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชนิดที่มีลำต้นและใบลดรูป มีเพียง รากที่ทำหน้าที่หลักทุกอย่าง ทั้งการยึดเกาะ สร้างอาหาร ดูดซับความชื้น และแลกเปลี่ยนก๊าซ ได้แก่ สกุลพญาไร้ใบ (Chiloschista spp.) และสกุลเอื้องตีนตืด (Taeniophyllum spp.) ฯลฯ
ลำต้นหรือลำลูกกล้วย
กล้วยไม้หลายชนิด ได้ปรับโครงสร้างลำต้นให้เหมาะสมสำหรับการพยุงลำต้น การเก็บสะสมน้ำและอาหารเพื่อใช้ในสภาวะวิกฤติ โดยมีลำต้นโป่งพองหรือคล้ายอวบน้ำ เรียกว่า “ลำลูกกล้วย” (pseudobulb) และอวัยวะส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องเผชิญหรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมนานาประการโดยตรง จึงต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสม โดยพัฒนาเนื้อเยื่อภายในเป็นใยยาวและเหนียวหรือเป็นเสี้ยน ให้มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นเหมาะสม กับที่ต้องถูกพัดด้วยแรงลม และให้สามารถทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหารได้ ส่วนบริเวณผิวนอกจะมีไขเคลือบหนา เพื่อลดการสูญเสียน้ำ และส่วนใหญ่มีสีเขียวของคลอโรฟีลล์ ทำให้สามารถสังเคราะห์ อาหาร ด้วยแสงได้อีกด้วย ลำต้นกล้วยไม้มีความผิดแผกกันไปทั้งขนาดและรูปร่าง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดพันธุ์และสภาพแวดล้อม ที่กล้วยไม้นั้นขึ้นอาศัยอยู่ กล้วยไม้ไทยบางชนิดมีขนาดลำต้นเล็กเพียงประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อาทิ สิงโตไข่ปลา (Bulbophyllum moniliforme) และเอื้องไข่ปลาดุก (Bulbophyllum subtenellum) หรือที่มีลำลูกกล้วยคล้าย รูปน้ำเต้าทรงสูง เช่น เอื้องข้าวเหนียวลิง (Calanthe rosea) หรือเป็นข้อๆ ต่อกันชัดเจน เช่น เอื้องลำต่อ (Pholidota articulata) จนถึงขนาดลำต้นยาว 2-5 เมตร เช่น ว่านเพชรหึงหรือหางช้าง (Grammatophyllum speciosum) ซึ่งแตกลำ เป็นกอใหญ่ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้และจัดว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ ที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาวได้ถึง 10-30 เมตร ได้แก่ พลูช้าง (Vanilla siamensis) กล้วยไม้ดินที่ไม่มีหัวหรือเหง้าสะสมอาหาร มักจะมีส่วน ลำต้นสั้น ไม่อวบอ้วน มีใบแผ่กว้างเพื่อเพิ่มพื้นที่รับแสง เช่น สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) และว่านน้ำทอง (Ludisia discolor) หลายชนิดมีลำต้นใต้ดินหรือเหง้า สำหรับการสะสมน้ำและอาหาร เช่น สกุลว่านจูงนาง (Geodorum spp.) และสกุลช้างผสมโขลง (Eulophia spp.) และอีกหลายๆ สกุลมีลำต้นอวบอ้วนเป็นลำลูกกล้วย เช่น สกุลเอื้อง น้ำต้น (Calanthe spp.) สกุลเอื้องลำไห (Plocoglottis spp.) สกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) สกุลเอื้องดินลาว (Spathoglottis spp.) และว่านพร้าว (Anthogonium gracile) ส่วนชนิดที่ลำต้นสูงเรียว มีโครงสร้างที่เป็นแกนภายในประกอบ ด้วยเส้นใยยาวเหนียวหรือเป็นเสี้ยนที่ช่วยเสริมให้ลำต้น ยืดหยุ่นและ แข็งแรง ได้แก่ เอื้องดินใบไผ่ (Arundina graminifolia) เอื้องลิลา (Corymborkis veratrifolia) และสกุลเอื้องพร้าว (Phaius spp.) ฯลฯ
กล้วยไม้อิงอาศัยไม่มีรากหรือเหง้าที่ช่วยสะสมอาหาร แต่มีส่วนของลำต้นได้ช่วยทำหน้าที่นี้ จึงมัก อวบป่อง เป็นลำลูกกล้วยหรือลำยาวอวบอ้วน เช่น สกุลเอื้องหมาก (Coelogyne spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) สกุลก้านก่อ (Eria spp.) และโดยเฉพาะในสกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) หลายชนิดมีลำลูกกล้วยหลายลูกชัดเจนและ มีไหลเชื่อมต่อกัน
ใบและการเรียงตัวของใบ
หน้าที่หลักของใบ คือ การสังเคราะห์อาหารด้วยแสง ตลอดจนแลกเปลี่ยนก๊าซที่เกิดขึ้น ขณะดำเนินกระบวนการต่างๆ ภายในต้น ดังนั้นใบของกล้วยไม้ส่วนใหญ่จึงมีสีเขียวของรงควัตถุ คลอโรฟีลล์ และมีลักษณะที่ผ่านการปรับตัวขั้นสูงเพื่อช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน เช่น มีใบที่อวบหนาเพื่อเก็บสะสมน้ำ ไว้ใช้อย่างเพียงพอและมีสารไขเคลือบหนาที่ผิวใบเพื่อช่วย ลดการคายน้ำ นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังสามารถสังเคราะห์อาหาร ด้วยแสงได้โดยวิธีพิเศษ คือวิธี Crassulacean acid metabolism (CAM) กล้วยไม้ดินบางกลุ่มที่ขึ้นอยู่ตามที่ร่มชื้นหรือป่าดงดิบที่มีแสงน้อย จะเพิ่มพื้นที่รับแสงโดยมีแผ่นใบกว้าง มีลวดลายและสีสันผิดแผกไป เช่น สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) ว่านน้ำทอง (Ludisia discolor) และนางลับแล (Mischobulbum wrayanum) ฯลฯ nungruthi2535@gmail.com